Scroll Top

ทานอาหารเป็นยาในแต่ละฤดูกาลให้ห่างไกล ไข้หวัด

เคยสงสัยหรือเคยสังเกตไหมว่าทำไมพอเปลี่ยนฤดูกาลที เราก็เริ่มมีอาการ ไข้หวัด ครั่นเนื้อครั่นตัวขึ้นมาทันที จริงๆ แล้วนั่นไม่ใช่เหตุบังเอิญหรือเกิดจากการที่เราคิดไปเองแต่อย่างใด เนื่องจากฤดูกาลต่าง ๆ ส่งผลให้ร่างกายของเราแปรปรวนได้ โดยเฉพาะในช่วงรอยต่อของฤดู อาการไม่สบายเนื้อสบายตัวคล้ายจะเริ่มเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะยิ่งชัดขึ้น อย่างเช่นในช่วงปลายฝนต้นหนาว เมื่ออากาศหนาวเริ่มก่อตัว ละอองฝนจากปลายฤดูฝนและธาตุลมซึ่งเป็นเหตุของความเจ็บป่วยในฤดูฝนก็จะถูกเจือด้วยความเย็น สภาวะเช่นนี้ทำให้ร่างกายของคนเราต้องมีการปรับตัวเป็นอย่างมาก หากปรับตัวให้เกิดความสมดุลไม่ได้ก็จะเกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น

อุตุสมุฏฐาน: 3 ฤดูกาล ทางแพทย์แผนไทย

ในทางการแพทย์แผนไทย ฤดูกาลซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 3 ฤดู ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาวนั้น เรียกว่าอุตุสมุฏฐาน ซึ่งในแต่ละฤดูจะมีเหตุของความเจ็บป่วยด้วยธาตุที่แตกต่างกัน

  • ฤดูร้อนเจ็บป่วยด้วยธาตุไฟ
  • ฤดูฝนเจ็บป่วยด้วยธาตุลม
  • ฤดูหนาวเจ็บป่วยด้วยธาตุน้ำ

ซึ่งการที่เราจะดูแลร่างกายให้ห่างไกลจากความเจ็บป่วยได้ก็ต้องรับประทานอาหารที่ช่วยรักษาสมดุลของร่างกายในแต่ละฤดูกาล

การเลือกทานอาหารให้เป็นยา เพื่อห่างไกลจาก ไข้หวัด

ผักที่เรานำมาประกอบอาหารเพื่อรับประทานนั้นไม่ได้มีแค่วิตามินและแร่ธาตุตามหลักอาหาร 5 หมู่อย่างที่ทุกคนเข้าใจ แต่ยังมีคุณสมบัติที่ส่งผลต่อสุขภาพหรือที่เรียกว่า “รส” แตกต่างกันไป ในช่วงที่อากาศร้อน เย็นแตกต่างกัน การเลือกรับประทานผักที่มีรสซึ่งช่วยรักษาภาวะสมดุลให้แก่ร่างกาย ไม่ให้ร่างกายเกิดความเจ็บป่วยหรือ ไข้หวัด จึงแตกต่างกันไปเช่นกัน

การจะจำแนกว่าอากาศร้อนหรือเย็นเพื่อจะได้เลือกรับประทานผักที่มีรสได้อย่างเหมาะสมและดีต่อสุขภาพย่อมไม่ได้จำแนกตามความรู้สึกของเราเอง แต่สามารถจำแนกได้ตามอุตุสมุฏฐาน

ฤดูร้อนจะทำให้ร่างกายเจ็บป่วยด้วยธาตุไฟ ควรรับประทานผักที่มีรสขม เย็น เปรี้ยว และจืด เช่น ผักหนาม ขี้เหล็ก มะขาม ตำลึง ผักเขียด เป็นต้น

ฤดูฝนร่างกายจะเจ็บป่วยด้วยธาตุลม ควรรับประทานผักที่มีรสสุขุม รสเผ็ดร้อน เช่น กระเจี๊ยบแดง หอมแดง แมงลัก พริกขี้หนู ขิง เป็นต้น

ฤดูหนาวร่างกายจะเจ็บป่วยด้วยธาตุน้ำ ควรรับประทานผักที่มีรสขม ร้อน และเปรี้ยว เช่น สะเดา มะขาม มะนาว เพกา ชะมวง ผักชีล้อม ผักไผ่ กระชาย ข่าอ่อน พริกไทย ผักแพว เป็นต้น

ไข้หวัด

ตัวอย่างเมนูอาหารที่แนะนำในแต่ละฤดูกาล

ผักที่กล่าวมาข้างต้นนั้น สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู โดยจะขอยกตัวอย่างเมนูที่ทั้งน่ารับประทานและช่วยรักษาสมดุลของร่างกายในแต่ละฤดูกาล พร้อมวิธีการทำ ดังนี้

ฤดูร้อน: ยำขี้เหล็ก

ยำขี้เหล็ก สำหรับฤดูร้อน มีวิธีการทำง่ายๆ เพียงแค่นำยอดขี้เหล็กมาต้มน้ำประมาณ 15 – 30 นาที จากนั้นนำไปผสมกับน้ำยำและเนื้อสัตว์อื่นๆ ได้ตามใจชอบ

ฤดูฝน: น้ำขิงกระเจี๊ยบแดง

น้ำขิงกระเจี๊ยบแดง สำหรับฤดูฝน สามารถทำได้โดยต้มกระเจี๊ยบแดงพร้อมขิงที่หั่นเป็นแว่นในน้ำเปล่าจนเดือด หากต้องการรสหวานสามารถใส่น้ำตาลลงไปเล็กน้อย จากนั้นกรองเอาแต่น้ำเพื่อรับประทาน

ฤดูหนาว: กระชายเชื่อม

กระชายเชื่อม สำหรับฤดูหนาว เพียงแค่นำกระชายที่แช่น้ำปูนใส 5 – 10 นาทีไปต้มในน้ำเดือด 2 ครั้งเพื่อลดความฉุนลงเล็กน้อย จากนั้นเติมน้ำตาลลงไปแล้วเคี่ยวจนน้ำงวด ก็จะได้กระชายเชื่อมสำหรับรับประทานในฤดูหนาวกันแล้ว

รู้วิธีรักษาสมดุลของร่างกายด้วยการใช้อาหารเป็นยากันแบบนี้แล้ว แม้อากาศจะเปลี่ยนแปลงบ่อยแค่ไหนเราก็สามารถมีร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัย ไข้หวัด ความเจ็บปวดต่าง ๆ ได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องพึ่งยา

บทความโดย

พท.ว. ทยิดา ไทยถาวร

ผู้อำนวยการคลินิกการแพทย์แผนไทยวัดทินกรนิมิต

ตะกร้าของคุณ
Close
ตะกร้าสินค้า
  • ไม่มีสินค้าในตะกร้า
ไม่มีสินค้าในรถเข็นของคุณ
โปรดเพิ่มสินค้าลงในตะกร้าสินค้าของคุณก่อนดำเนินการชำระเงิน